วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นางในวรรณคดีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์




นางในวรรณคดีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


บ่อเกิดของวรรณคดีไทย

วรรณคดีไทยมีกำเนิดหลายสาเหตุ  อาจจะจำแนกออกได้เป็นประเภทๆตามสมัยที่เกิดได้ดังนี้

  • เกิดจากความประสงค์จะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้อนุชนได้รู้เรื่องราวในอดีตของชาติของตน  ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้ได้แก่  ศิลาจารึกและพงศาวดารฉบับต่างๆ  เป็นต้น      
  • เกิดจากความประสงค์จะอบรมสั่งสอนประชาชนในด้านความประพฤติ  และการปฏิบัติตน  เช่นการศึกษาหาความรู้  การคบเพื่อน  และอื่นๆ  ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้ได้แก่  สุภาษิตพระร่วง  และวรรณคดีคำสอนเรื่องอื่นๆ
  • เกิดจากความประสงค์จะชมการแสดงมหรสพต่างๆ เริ่มตั้งแต่ละคร  โขนหนัง  หุ่น  และเสภา  ตัวอย่างวรรณคดีประเภทนี้คือ  ละครเรื่องอิเหนา   โขนเรื่องรามเกียรติ์  หนังเรื่องสมุทรโฆษ  หุ่นเรื่องพระอภัยมณี  และเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  เป็นต้น
  • เกิดจากความประสงค์จะสรรเสริญวีรกรรมของวีรกษัตริย์   ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้ได้แก่  ยวนพ่ายโคลงดั้น  และลิลิตตะเลงพ่าย  เป็นต้น
  • เกิดจากความประสงค์จะสอนหนังสือไทย  ทำให้เกิดตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเริ่มตั้งแต่  จินดามณีอีกหลายฉบับ  และยังมีตำราเรียนต่างๆอีกหลายเล่ม
  •  เกิดจากความรัก  วรรณคดีประเภทนี้มีทั้งจดหมายรักและนิราศต่างๆ เช่น เพลงยาวเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร  เป็นต้น

วรรณคดีมรดกของไทยสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์   (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)

ตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๒) เป็นเวลา ๒๑๗ ปี กวีไทยได้สร้างสรรค์วรรณคดีที่สมควรรักษาเป็นมรดกไทยไว้จำนวนมาก ในที่นี้จะหยิบยกเฉพาะที่สำคัญๆ   มากล่าวไว้ คือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ บทละครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ลิลิตตะเลงพ่าย สามก๊ก พระราชพิธีสิบสองเดือน และนิทานคำกลอน เรื่องพระอภัยมณี

ประเภทนางในวรรณคดีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


 ประเภทนางเอกที่มีทั้งความสวยและมีคุณงามความดีเป็นที่กล่าวขวัญถึง

นางสีดา จากวรรณคดีไทย  เรื่อง  รามเกียรติ์


บทบาทในการดำเนินเรื่อง

ในบรรดาตัวละครหญิงในเรื่อง  รามเกียรติ์  เป็นที่ยอมรับว่า  สีดา  เป็นตัวละครหญิงที่มีชื่อเสียงมากที่สุด  และเป็นตัวละครหญิงที่ได้รับการอ้างอิงว่านางเป็นแบบอย่างของผู้หญิงที่มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อสามีเป็นเลิศ นางเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่จะโยงไปสู่การทำสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม  ในการดำเนินเรื่อง สีดามีบทบาทน้อยมาก  เพราะเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการรบมากกว่า  แต่ด้วยบทบาทที่ปรากฏทำให้สีดา เป็นตัวละครอุดมคติที่เป็นแบบของความดีงาม ซึ่งเป็นแบบอย่างของตัวละครที่มีทั้ง  ความดี และ  ความงาม

ชะตาชีวิต

นางสีดา เป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องของนางเริ่มขึ้นเมื่อพระนารายณ์ได้อวตารลงไปเกิดเป็นพระราม นางสีดา คือ พระลักษมี  พระชายาแห่งพระนารายณ์จึงทรงอวตารลงไปเกิดเป็นคู่ครองพระรามตามบัญชาของพระอิศวร นางสีดาถือกำเนิดเป็นพระธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เพื่อเป็นชนวนของการทำศึกสงคราม เหตุที่พระอิศวรให้พระลักษมีไปเกิดเป็นนางสีดาในนครลงกาซึ่งเป็นเมืองศัตรูของพระรามนั้น  เพราะมีพระประสงค์จะให้เป็นไส้ศึก  ดังกลอนว่า       จะเกิดสีดาทรามวัย    เป็นไส้เพลิงผลาญอสุรา หลังจากนั้นนางก็กลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และยักษ์ขึ้น

รูปโฉม
นางสีดาเป็นสตรีที่มีความงามยิ่งกว่านางฟ้าในสวรรค์   ผู้ใดพบเห็นต่างก็พากันตะลึงในความงามของนาง  และยังเป็นตัวละครหญิงที่ได้รับความยกย่องว่างดงามที่สุด ซึ่งในเรื่องรามเกียรติ์นั้นได้กล่าวถึงความงามของนางสีดาไว้หลายแห่ง  เช่น ในตอนประสูติ  จะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่านางสีดาเป็นธิดาของ   ทศกัณฐ์กับนางมณโฑมีรูปลักษณ์งดงามผิดจากวงศ์ตระกูลที่เป็นยักษ์  และในตอนที่พระรามเดินทางมาเมืองมิถิลาเพื่อร่วมพิธียกศร  ซึ่งท้าวชนกโปรดให้จัดขึ้น  เพื่อหาคู่ให้นางสีดา  ครั้นพระรามเห็นนางสีดาถึงกับตะลึงในความงามของนางก็เกิดความรักขึ้นทันที แม้แต่ในตอนที่นางสำมะนักขาเห็นนาง  ได้ชมว่านางสีดางามมากจนแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันยังตะลึงหลงในความงามของนางและได้ไปยุยงให้ทศกัณฐ์เกิดความเสน่หาในตัวนางสีดา  เมื่อเปรียบเทียบนางสีดากับนางมณโฑ  นางสำมะนักขาได้พรรณนาความงามของนางให้ทศกัณฐ์ฟัง  ดังคำประพันธ์ว่า

ทูลว่าอันหญิงทั้งแดนไตร                          ถึงจะงามก็ไม่พร้อมเพรา
ซึ่งจะเอาพี่นางมณโฑเปรียบ                                  เทียมเทียบไกลกันสักพันเท่า
เปรียบขนงแพ้ขนงนงเยาว์                                     เปรียบทรงศอเล่าก็ไกลกัน
เปรียบปรางสีดาก็น่าชม                                        เปรียบเนตรเนตรคมคมสัน
เปรียบพักตร์ผ่องแผ้วดั่งดวงจันทร์                          เปรียบถันดั่งปทุมละอองนวล
เปรียบนาสานางงามแฉล้ม                                    เปรียบโอษฐ์เห็นแย้มเป็นที่สรวล
เปรียบทรงแพ้ทรงโดยกระบวน                                เปรียบนวลแพ้นวลนางสีดา
เปรียบทั้งมารยาทก็แพ้ด้วย                                     ทรวดสวยเป็นที่เสน่หา
เลิศลักษณ์ทรงเบญจกัลยา                                     ทั้งโลกาจะเปรียบก็ไม่มี

จากคำประพันธ์จะเห็นได้ว่า  นางสำมะนักขาได้กล่าวชมความงามของนางสีดาว่าสวยงามมากจนไม่มีใครเปรียบ  ทุกสัดส่วนในตัวของนางสีดาช่างสวยงามหาใครเปรียบไม่ได้เลย  แม้กระทั่งเปรียบกับนางมณโฑก็ยังสู้นางสีดาไม่ได้เพราะนางสีดางามกว่านางใดในโลกไม่มีหญิงใดสวยเกินนางได้เลย


ลักษณะนิสัย

นางสีดาเป็นผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสามีเป็นเลิศ  และแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของภรรยาต่อสามี  นางสีดามีความซื่อสัตย์ต่อพระรามมาก  เริ่มตั้งแต่การขอติดตามพระราม  ซึ่งต้องออกจากบ้านเมืองที่สุขสบายไปอยู่ในป่า  ดำเนินชีวิตอย่างเร่ร่อนตกระกำลำบาก  ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติหน้าที่อันดียิ่งของภรรยาที่พึงมีต่อสามี   ดังคำประพันธ์ที่ว่า

         ถึงยากลำบากในไพรวัน                      จะสู้ดั้นโดยเสด็จพระทรงฤทธิ์
         ขุกไข้จะได้ปรนนิบัติ                           ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
         แม้นตายไม่เสียดายชีวิต                      ให้ทศทิศประจักษ์ว่าภักดี

จะเห็นได้ว่า  นางสีดามีความจงรักภักดีต่อพระราม  และเป็นแบบอย่างของหญิงในอุดมคติเสมอ  คือ  รักษาความซื่อสัตย์  รักเดียวใจเดียว  ในตอนที่พระรามถูกเนรเทศออกจากเมือง  นางก็ตัดสินใจขอติดตามพระรามไปด้วย   แสดงให้เห็นว่านางสีดาเป็นหญิงที่อยู่ในกรอบของจารีตทางสังคมที่ถือว่า  หญิงไม่อาจครองตัวอยู่ในสังคมได้ตามลำพัง  หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเคียงข้าง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีจนกว่าจะตายจากกันเพราะการถูกสามีทอดทิ้งหรือเป็นหม้าย  ซึ่งเป็นสถานะเลวร้ายที่ผู้หญิงไม่พึงประสงค์  นางสีดาเป็นหญิงที่เต็มไปด้วยความดีความซื่อสัตย์ 
  
สติปัญญา  ความสามารถ

นางสีดาเป็นผู้มีสติปัญญา ฉลาด ซึ่งจะเห็นได้ในตอนที่หนุมาน  ผู้เป็นทหารของพระรามนำแหวนและผ้าสไบมาถวาย  และหนุมานจะเชิญเสด็จกลับไปด้วยโดยประทับมาบนฝ่ามือของตน  นางสีดาปฏิเสธโอกาสอันดีนั้นเสียโดยได้ทรงกล่าวกับหนุมานว่า  ตอนที่นางมากรุงลงกาก็มาโดยถูกยักษ์ลักพามา  และถ้าจะกลับไปโดยการช่วยเหลือของหนุมานซึ่งเป็นลิงก็ไม่สมควร  จะเข้าทำนอง  “ ยักษ์ลักมาลิงพาไป ”  ซึ่งคงจะถูกที่ติฉินนินทาไปทั่ว  จึงขอให้หนุมานรีบกลับไปทูลพระรามให้ยกทัพมาปราบทศกัณฐ์ให้ได้แล้วนางจะได้กลับไปกับพระรามอย่างสมศักดิ์ศรี
จะเห็นว่าแม้นางสีดาจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับมาหาพระรามมากเพียงใดแต่ก็ไม่ได้มากไปกว่าความต้องการที่จะครองตัวเป็นชายาที่ดีของพระราม  โดยการที่ยอมปฏิเสธโอกาสสำคัญและเป็นโอกาสที่ตนเองรอคอยอยู่ตลอดเวลา  เพียงเพื่อต้องการรักษาศักดิ์ศรีของตนและพระสวามี  นับได้ว่านางสีดาเป็นผู้มีสติปัญญา  มีความคิดรอบคอบ  ส่วนอีกตอนหนึ่ง คือ ตอนที่นางสีดาลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง  ซึ่งการลุยไฟนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความมั่นคงในความรักของนางที่มีต่อพระราม  เมื่อนางได้พิสูจน์ตนเองแล้ว  พระรามจึงรับตัวนางกลับคืนได้โดยไม่เสียชื่อเสียง  และเกียรติยศ
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า  นางสีดา  เป็นตัวละครที่มีบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยชัดเจน  ตรงไปตรงมา  แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของนางสีดา  ซึ่งเป็นคุณสมบัติของหญิงไทยในอุดมคติ  คือ  ต้องมีสามีเดียว  จงรักภักดีต่อสามี  แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไรก็อย่าหวั่นไหว   หันเหความภักดีต่อสามีไปได้  ถ้าเป็นคติอินเดียที่ไทยนำมาเป็นแบบอย่าง  นางสีดาก็เป็นแบบฉบับของหญิงในแง่ที่จงรักภักดีต่อสามีเป็นเลิศ  ซึ่งถ้าสามีตายก่อนก็ต้องกระโดดเข้ากองไฟเผาตัวเองตายตาม  ถือเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาช้านาน  แสดงว่า  นางสีดาได้เข้าลักษณะของหญิงที่มีความซื่อสัตย์  มีความรักและภักดีต่อสามี  มีสัจจะ   และความเสียสละ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในตัวของนางสีดาอย่างครบถ้วน  และนางยังเป็นตัวอย่างของนางในวรณคดีที่ได้รับการยกย่องเชิดชูอยู่เสมอ  ถึงแม้นางสีดาจะเป็นตัวละครที่มีบทบาทน้อยแต่ก็เป็นตัวละครที่ถูกกล่าวถึงจากกวีหลายสมัย    แสดงว่านางสีดาเป็นตัวละครที่ผู้เสพวรรณคดีประทับใจอย่างยิ่ง  เพราะนางเป็นแบบอย่างของผู้หญิงที่มีสัจจะต่อความรักทั้งทางกาย  วาจา  และทางใจ  อันเป็นคุณสมบัติที่ผู้ชายคิดว่าหาได้ยากในตัวของผู้หญิงทั่วไป


                                     นางรจนา จากวรรณคดีไทย เรื่องสังข์ทอง



บทบาทในการดำเนินเรื่อง

นางรจนา จากเรื่องสังข์ทอง เป็นธิดาสุดท้องจากจำนวนเจ็ดองค์ของท้าวสามล พี่ๆเลือกคู่ได้สามีที่คู่ควรกันแล้ว แต่นางรจนากลับเลือกได้เจ้าเงาะรูปชั่วตัวดำ ทั้งๆที่ตนเป็นสาวสวย จึงเป็นที่เยาะเย้ยไปทั่ว ทำให้พระบิดากริ้วไล่ให้ไปตกระกำลำบากที่กระท่อมปลายนา แต่ความจริงที่นางเลือกก็เพราะเห็นรูปทองอยู่ข้างใน เจ้าเงาะถึงจะขี้ริ้วแต่ก็มีวิชาความรู้ จนต่อมาพระอินทร์ต้องแปลงร่างมาตีคลีเพื่อช่วยให้เจ้าเงาะได้ถอดรูปให้ทุกคนได้เห็นรูปทองในที่สุด ดังนั้นสาวๆที่มีสามีขี้ริ้วจึงมักถูกว่าเป็นนางรจนาควงเจ้าเงาะ ตอนกำเนิดและชีวิตในวัยเยาว์ของนางรจนาไม่ได้กล่าวไว้  จึงสันนิษฐานว่าชีวิตในวัยเด็กคงราบรื่นไม่มีปัญหาใด ๆ เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่เป็นน้องที่รักของพี่ ๆ จะมามีเรื่องราวก็ตอนโตเป็นสาวแล้วนั้นเอง  ส่วนบทบาทของความเป็นภรรยาเป็นศรีภรรยาและเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ไม่ขาดตกบกพร่อง

ชะตาชีวิต

รจนาได้ได้ต่อสู่กับชะตาชีวิตของตน  โดยเกิดขึ้นจาก  การเลือกคู่ของนาง  เมื่อนางเลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ครอง  ทำให้บรรดาบิดามารดา  และพี่ของนางทุกคนเกิดการไม่พอใจ  บิดาเลยให้ไปอยู่กระท่อมปลายนากับสามีของนาง  รจนาอยู่อย่างยากลำบาก  ต้องปลูกผักกินเอง  หุงหาอาหารต่าง ๆ  โดยที่นางไม่เคยได้ทำมา  แต่เมื่อนางมาอยู่กับเจ้าเงาะ  เจ้าเงาะก็ได้สอนการเป็นแม่บ้านแม่เรือนให้กับนาง  จนนางทำได้ทุกอย่างและอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข  แต่บรรดาพ่อแม่และพี่ ๆ ก็ยังไม่อยู่เฉย  ค่อยแกร่งอยู่ตลอด  เช่น  พระบิดาสั่งให้เจ้าเงาะหาเนื้อหาปลาไปถวายทุกวัน  และเป็นจำนวนที่มาก  เป็นต้น  กว่าที่เจ้าเงาะกับนางรจนาจะได้อยู่ด้วยความสงบนั้น  มีพระอินทร์สงสารทั้งคู่เลือกคิดอุบายจะมาจะมาตีเมืองของท้าวสามนต์  ท้าวสามนต์ก็ได้ให้เขยทั้งหลายออกมารบ  ต่อก็ต้องแพ้พ่าย   จนต้องให้เจ้าเงาะมารบจนชนะ  ทำให้ท้าวสามนต์พอใจเลยให้ทั้งสองเข้ามาอยู่ในวังประจวบกับที่เจ้าเงาะทอดรูปเป็นพระสังข์  ทุกคนจึงหลงใหลในตัวของเจ้าเงาะ  และอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตลอดมา

รูปโฉม

กล่าวถึงท้าวสามนต์ครองเมืองกับนางมณฑามเหสีเอก  ไม่มีโอรส  มีธิดาเจ็ดนาง  แต่ละนางมีหน้าตาสวยดังที่มีบรรยายไว้ว่า                                              
งามโฉมชะอ้อนอ่อนเอวองค์                    งามขนงวงพักตร์โสภา”

โดยเฉพาะพระธิดาองค์เล็กนั้นงามเป็นพิเศษ  ดังที่ว่า

น้องนุชสุดท้องชื่อรจนา                           โสภาเพียงนางสวรรค์”

และตอนที่เจ้าเงาะป่าได้พรรณนาความงานของนางรจนา  ดังบทประพันธ์ต่อไปนี้

        “พิศโฉมพระธิดาวิลาวัณย์                        ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน
งานละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์                         นางในธรณีไม่มีเหมือน
แสร้งทำแลเสี่ยงเบี่ยงเปือน                               ให้ฟั่นเฟือนเตือนจิตคิดปอง
พระจึงตั้งสัตย์อธิษฐาน                                   แม้นบุญญาธิการเคยสมสอง
ขอให้ทรามสงวนนวลน้อง                                เห็นรูปพี่เป็นทองต้องใจรัก”

ลักษณะนิสัย

รจนาเป็นกุลสตรี  เป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย  อ่อนน้อมถ่อมตน  อยู่ในกรอบประเพณีและเป็นแม่บ้านแม่เรือน  เป็นหญิงที่มีความอดทนและมีการควบคุมภาวะทางอารมณ์ได้อย่างดียิ่งและเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวของตังเองสูง  โดยมีสติไม่ได้ตัดสินใจด้วยอารมณ์แต่ตัดสินใจด้วยเหตุผลที่ตนเองได้ไตร่ตรองแล้ว  มีจิตใจที่เป็นอิสระ  และมีความเข้มแข็งจะเห็นได้จากการเลือกคู่ของนางในตอนแรกที่นางไม่เลือกใครเลย  และมาครั้งที่สองก็ได้เลือกเจ้าเงาะในที่สุด  การกระทำทั้งสองครั้งนี้เป็นสิ่งขัดแย่งกับความคิดความเข้าใจของคนอื่น  แต่รจนาก็กล้าคิดกล้ากระทำด้วยความเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นผู้ถูก  และอดทนจนความจริงปรากฏ หากเราจะมาพิจารณาเหตุผลที่รจนาเลือกเจ้าเงาะ  จะพบว่า  นอกจากความปลาบปลื้มในรูปโฉมของพระสังข์แล้ว  นางได้ครวญว่า

แสนสมัครรักใคร่ใหลหลง   ด้วยรูปทรงเป็นทองต้องจิต”

รจนายังเลือกเจ้าเงาะด้วยเหตุผลที่สงสัยว่าเป็น  “บุญ”  ของตนที่ได้เห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นด้วย  สิ่งนี้น่าจะเป็นการท้าทายการตัดสินใจของรจนามากกว่า  นางจึงไม่ได้ทิ้งพวงมาลัยไปสวมหัตถ์ผู้ที่เลือกเหมือนอย่างพี่นางทั้งหกคน    แต่ใช้วิธีเสี่ยงพวงมาลัย  คือก่อนที่ทิ้งพวงมาลัยนั้นได้อธิฐานด้วยว่าหากพระสังข์และนางเป็นคู่ครองกันมาแต่ชาติปางก่อน  ก็ขอให้มาลัยที่ทิ้งไปต้องตัวเจ้าเงาะรูปทอง  ในตอนนั้นชายที่มาให้นางรจนาเลือกคู่นั้นมีเจ้าเงาะเพียงคนเดียว  หากตกลงใจเลือกแล้วจะทิ้งพวงมาลัยไปอย่างไรก็ต้องถูกเจ้าเงาะ  การเสี่ยงพวงมาลัยอธิฐานจึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจ  การเลือกคู่ครองที่ผู้อื่นเห็นว่าไม่เหมาะสม  เช่นนี้  ทำให้รจนาอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก  เพราะนางรู้ดีว่าอธิบายสิ่งที่นางเห็นอย่างไรก็จะไม่มีใครเชื่อ คนย่อมเชื่อในสิ่งที่เห็นกับตา อันได้แก่รูปโฉมภายนอกมากกว่าจะเชื่อสิ่งที่มองไม่เห็น  อันได้แก่จิตใจ 

สติปัญญา  ความสามารถ

รจนาเป็นผู้เห็นว่าของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน  รจนาเป็นลูกสาวของเจ้าเมืองเกิดมาพร้อมกับยศศักดิ์และความสะดวกสบายทุกอย่าง  แต่รจนาก็มิได้หลงใหลหรือยึดมั่นจนมองเห็นคนอื่นที่ต่ำต้อยยากจนกว่าตน  ว่าน่ารังเกียจไม่ควรคบหาสมาคม  พสกนิกรของท้าวสามนต์นั้นส่วนใหญ่ย่อมเป็นคนสามัญที่ยึดอาชีพทำไร่ทำสวน  รจนาก็พร้อมที่จะดำรงชีวิตเช่นนั้น  เพราะเมื่อเลือกเจ้าเงาะไปแล้ว  หากเจ้าเงาะไม่ถอดรูปเป็นพระสังข์ทอง  นางก็พร้อมที่จะเป็นคู่ทุกข์คู่ยากช่วยกันทำมาหากินเลี้ยงชีพ  ไปตามประสาผัวเมีย  นี่ย่อมแสดงถึงความไม่ดูถูกเหยียดหยามคนต่ำต้อยของรจนา  รจนาให้ค่าของความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกันพร้อมที่จะผจญกับความยากลำบากเคียงคู่ไปกับสามี  มิใช่ผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนเดิน  หรือประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ  เช่น  เจ้าหญิงหรือลูกเศรษฐีบางคน  รจนาเป็นนักสู่ชีวิตควรแก้การสรรเสริญ


ประเภทรักลำบาก รักพลัดพราก จนถึงโศกนาฏกรรมรักที่ต้องสังเวยชีวิต

นางมัทนา จากวรรณคดีไทย เรื่องมัทนะพาธา


บทบาทในการดำเนินเรื่อง

มัทนาเป็นตัวละครที่มีความสำคัญที่สุดในบทละครเรื่องมัทนะพาธานี้  เนื่องจากนางมีบทบาทมากในการเชื่อมโยงตัวละครอื่นๆให้เข้ามามีบทบาทในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากความรัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวละครในเรื่องนี้ล้วนแต่ได้รับความเจ็บปวดและเดือดร้อนเพราะความรัก โดยเฉพาะ นางมัทนาที่มีชื่อมาจากคำว่า มทน ที่มีความหมายว่าความลุ่มหลง หรือความรัก เป็นตัวละครที่ได้รับความเจ็บปวดและเดือดร้อนจากความรักมากที่สุด เพราะนางมัทนาเป็นทั้ง “ผู้รัก” และ “ผู้ถูกรัก” แต่ก็ไม่สมหวังใน “ความรัก” สาเหตุของการที่มัทนาต้องเกี่ยวพันกับความรักมากมายเช่นนี้ เพราะมัทนาเป็นนางฟ้าที่มีรูปโฉมงดงาม จนเทพบุตรสุเทษณ์ติดตาตรึงใจ และใคร่จะได้นางเป็นชายา แต่มัทนาไม่เคยสนใจสุเทษณ์ เพราะได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะครองคู่กับชายที่ตนรักเท่านั้น  ความตั้งใจของมัทนาดังกล่าวทำให้สุเทษณ์โกรธมากเพราะเขาเฝ้าวิงวอนขอความรักจากนางเป็นเวลานานทั้งๆที่สุเทษณ์ในฐานะของหัวหน้าหรือผู้นำเหล่าเทวดาและนางฟ้าทั้งหลายอาจจะใช้อำนาจบังคับมัทนาก็ย่อมได้ แต่การที่สุเทษณ์อ้อนวอนขอให้มัทนารับรักก็เพื่อเป็นการแสดงให้-เห็นว่าเขารักมัทนาอย่างจริงใจ แต่เมื่อมัทนาปฏิเสธรักเขาโดยไม่มีเยื่อใย จึงทำให้เขาต้องใช้อำนาจสาปนางให้จุติลงมาเป็นต้นกุหลาบบนโลกมนุษย์  เมื่อมัทนามาเกิดเป็นต้นกุหลาบยังโลกมนุษย์และสามารถกลายร่างเป็นหญิงสาวได้เมื่อถึงคืนวันเพ็ญเป็นเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืน ทำให้นางได้มีโอกาสพบรักกับท้าวชัยเสน และกลายร่างเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องกลับไปเป็นต้นกุหลาบอีก ชีวิตคู่ของมัทนากับท้าวชัยเสนดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งท้าวชัยเสนพามัทนากลับมายัง  นครหัสตินาปุระ เมื่อความทราบถึงพระนางจัณฑีผู้เป็นมเหสีของท้าวชัยเสน พระนางจัณฑีจึงเกิดความโกรธและหึงหวงจึงวางอุบายกำจัดมัทนา
      เมื่อท้าวชัยเสนหลงเชื่อกลอุบายที่พระนางจัณฑีใช้เพื่อกำจัดมัทนาแล้วจึงสั่งประหารมัทนาและศุภางค์ทหารคนสนิทของตนเพราะคิดว่าทั้งสองลักลอบเป็นชู้กัน เหตุการณ์ทุกอย่างจึงเป็นไปตามแผนการของพระนางจัณฑี แต่ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ประหารมัทนากับศุภางค์นั้นกลับปล่อยตัวทั้งสองคนไป เพราะทราบว่าทั้งสองไม่ได้มีความผิดและถูกให้ร้าย  มัทนากลับสู่ป่าหิมะวัน และบำเพ็ญเพียรเพื่ออ้อนวอนให้สุเทษณ์ช่วยเหลือ เมื่อสุเทษณ์มาถึงก็มาขอความรักจากมัทนาอีก แต่นางปฏิเสธ  เมื่อสุเทษณ์ได้ฟังเหตุผลรวมทั้งคำอ้อนวอนให้สุเทษณ์ช่วยให้นางได้ครองรักกับท้าวชัยเสนอีก เพราะท้าวชัยเสนเป็นชายเดียวที่นางรักและไม่คิดจะเปลี่ยนใจ คำขอของนางทำให้สุเทษณ์บันดาลโทษะ จึงได้สาปให้นางเป็นต้นกุหลาบตลอดชั่วนิรันดร

ชะตาชีวิต

      ชะตาชีวิตของมัทนาในมัทนะพาธานั้นนับว่าน่าสงสารมาก เพราะชะตาชีวิตที่ต้องถูกทำร้ายทั้งที่นางไม่มีความผิดใดเลย เริ่มจาก
๑. การที่เทพบุตร์สุเทษณ์มีความรักใคร่ในตัวเทพธิดามัทนามาก แต่นางมัทนาไม่ใยดีต่อความรักของสุเทษณ์ สุเทษณ์จึงเกิดความทุกข์ระทมใจและเกิดความกริ้วจึงสาปให้มัทนามาเกิดเป็นกุหลาบยังโลกมนุษย์
๒. ข้ออนุญาตของคำสาปที่ให้มัทนากลายเป็นมนุษย์ได้ในคืนวันเพ็ญกลางเดือนเป็นเหตุให้ได้พบกับท้าวชัยเสนจนเกิดความรักต่อกัน ท้าวชัยเสนได้ขอและทำพิธีอภิเษกกับนางมัทนาทั้งที่ท้าวชัยเสนมีมเหสีอยู่แล้ว
๓. เมื่อท้าวชัยเสนนำนางมัทนาเข้ามายังนครแล้ว ทำให้นางจัณฑีมเหสีองค์เก่าไม่พอใจ จึงคิดหาทางกลั่นแกล้งจนทำให้ท้าวชัยเสนเข้าใจนางมัทนาผิด และเป็นเหตุให้นางมัทนาต้องออกจากเมืองไปอยู่ป่ากับพระมุนีตามเดิม ทั้งที่มัทนาไม่มีความผิดใด
๔. มัทนาได้รับความทุกข์อย่างหนักจากการวางอุบายของพระนางจัณฑี เมื่อนางกลับไปอยู่ป่านางพยายามอ้อนวอนเทพบุตร์สุเทษณ์ เพื่อขอร้องให้ช่วยดลใจท้าวชัยเสนให้มารับตัวนางกลับเข้าเมือง แต่เมื่อสุเทษณ์ลงมาจากสวรรค์กลับมาขอความรักจากนาง เมื่อนางปฏิเสธสุเทษณ์เกิดความกริ้วจึงสาปให้นางกลายเป็นต้นกุหลาบชั่วนิรันดร ท้าวชัยเสนมาถึงก็สายไปเสียแล้ว
จุดที่สำคัญของเรื่องเกี่ยวกับชะตาชีวิตของมัทนาอยู่ที่คำสาปของสุเทษณ์ ด้วยคำสาปนั้นได้มีข้ออนุญาตให้ต้นกุหลาบกลับกลายร่างเป็นมนุษย์ ได้เป็นเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งในคืนวันเพ็ญ และถ้าแม้นว่านางมัทนามีความรักใคร่ในชายใด ก็อนุญาตให้คงรูปเป็นมนุษย์อยู่ได้ตลอดไป ข้ออนุญาตนี้เป็นการให้โอกาสให้มัทนากลับกลายร่างเป็นนางงามมีชีวิตจิตใจและมีความรักได้ ฉะนั้นเมื่อได้กลายร่างเป็นมนุษย์ในคืนวันเพ็ญและได้พบกับท้าวชัยเสนความรักก็บังเกิดขึ้น ด้วยข้ออนุญาตในคำสาปของสุเทษณ์นี้เอง ทำให้ชะตาชีวิตของมัทนาดำเนินต่อไปจนถึงตอนจบของเรื่องซึ่งเป็นแบบโศกนาฏกรรม  ชะตาชีวิตของมัทนานี้ดำเนินไปตามชะตากรรมที่มีสาเหตุมาจากความลุ่มหลงและความรัก  ชะตากรรมที่มีสาเหตุมาจากความลุ่มหลงก็คือ ตอนที่สุเทษณ์เกิดความลุ่มหลงในความงามของมัทนา แต่มัทนาไม่รักตอบ มัทนาจึงถูกสาปให้มาเกิดเป็นกุหลาบยังโลกมนุษย์ ทั้งที่มัทนาไม่มีความผิด  ชะตากรรมที่มีสาเหตุมาจากความรัก ก็คือ ด้วยความรักของพระนางจัณฑีที่มีต่อท้าวชัยเสน จึงเกิดความหึงหวง และเกิดความอิจฉาริษยาจนต้องวางอุบายใส่ร้ายมัทนา จนเป็นเหตุให้มัทนาต้องถูกสั่งประหารชีวิตทั้งที่นางไม่มีความผิด                และด้วยความรักที่มั่นคงของมัทนาที่มีต่อท้าวชัยเสน ก็เป็นเหตุให้มัทนาต้องถูกสาปเป็นต้นกุหลาบชั่วนิรันดร  จะเห็นได้ว่าทั้งที่มัทนาไม่ได้มีความผิดใดเลยแต่ชะตาชีวิตก็ดำเนินไปตามชะตากรรมที่ผู้อื่นเป็นผู้ลิขิตและทำร้าย โดยที่ทุกอย่างมีสาเหตุมาจาก ความลุ่มหลงและความรักนั่นเอง

รูปโฉม

เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก เทพธิดามัทนาเป็นนางที่งามเลิศเหนือกว่านางใดใน สามโลก โดยพิจารณาจากเนื้อเรื่องตอนที่สุเทษณ์ให้คนสนิทของตนไปวาดรูปหญิงงามทั้งเมืองสวรรค์ เมืองมนุษย์ และเมืองบาดาล มาให้สุเทษณ์ดูแต่เมื่อสุเทษณ์ดูแล้วก็กล่าวว่าไม่มีนางใดใน  ทั้งสามโลกที่มีความงดงามเทียบเท่ากับมัทนาได้ โดยกวีได้พรรณนาบุคลิกลักษณะของมัทนาไว้  ตอนหนึ่งว่า
งามผิวประไพผ่อง                       กลทาบศุภาสุพรรณ
งามแก้มแฉล้มฉัน                                   พระอรุณแอร่มละลาน
งามเกศะดำขำ                                        กลน้ำณท้องละหาน
งามเนตร์พินิศปาน                                  สุมณีมะโนหะรา
งามทรวงสล้างสอง                                 วรถันสุมนสุมา
ลีเลิศประเสริฐกว่า                                  วรุบลสะโรชะมาศ
งามเอวอนงค์ราว                                    สุระศิลปิชาญฉลาด
เกลากลึงประหนึ่งวาด                             วรรูปพิไลยพะวง
งามกรประหนึ่งงวง                                 สุระคชสุเรนทะทรง
นวยนาฏวิลาศวง                                    ดุจะรำระบำระเบง

แสดงให้เห็นว่ามัทนาเป็นเทพธิดาที่มีรูปโฉมงดงามมาก เป็นผู้ที่มีความงามเลิศในทุกสัดส่วน มีผิวพรรณผุดผ่องมีเลือดฝาดที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของวัยสาว มีผมที่ดำเงา มีดวงตางดงาม มีเนินอกเอิบอิ่มราวกับดอกบัว มีส่วนโค้งส่วนเว้ากลมกลึง มีท่อนแขนที่งดงามราวกับงวงของช้างทรง มีท่วงท่าอ่อนช้อยงดงามยามเยื้องกรายประดุจกำลังรำไป

ลักษณะนิสัย

       ในด้านบุคลิกภาพภายในคืออุปนิสัยนั้น แม้มัทนาจะเป็นหญิงสาวที่มีความอ่อนหวานนุ่มนวลทุกท่วงท่า ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยาหรือการเจรจาพาที แต่นางก็มิได้มีความอ่อนแอไปด้วย ตรงกันข้ามกลับมีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงอย่างที่สุด นางมีจุดยืนในอุดมการณ์ของตนโดยเฉพาะในเรื่องของความรักหรือการมีคู่ครอง นางได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะครองคู่กับชายที่ตนรักเท่านั้น ดังที่ปรากฏในความตอนหนึ่งของเรื่อง   ความว่า

หม่อมฉันนี้เปนผู้ถือ                                 สัจจาหนึ่งคือ
ว่าแม้มิรักจริงใจ                                     ถึงแม้จะเปนชายใด
ขอสมพาศไซร้                                        ก็จะมิยอมพร้อมจิต   
           
จากปณิธานที่ตั้งไว้ มัทนาจึงไม่ยอมให้ผู้ใดใช้อำนาจมาบีบบังคับหรือหักหาญน้ำใจซึ่ง จะเห็นได้จากพฤติกรรมของนางในทุกชาติภพ ไม่ว่าจะเป็นนางมนุษย์หรือนางเทพธิดา ใช่ว่ามัทนาจะไม่รัก สุเทษณ์ในชาตินี้เท่านั้นแม้ในชาติก่อนหน้านี้นางก็ไม่รัก เมื่อไม่รักแล้วนางก็ไม่ยอมครองคู่อยู่ด้วยเป็นอันขาด และเมื่อมีโอกาสเลือกนางก็เลือกที่จะตายในชาติที่แล้วและเลือกที่จะเป็นกุหลาบในชาตินี้ดีกว่าที่จะอยู่อย่างฝืนใจกับชายที่ตนไม่รัก นอกจากนี้นางยังมีความรักในศักดิ์ศรีของความเป็นกุลสตรี ดังจะเห็นได้จากบทสนทนาตอนหนึ่งว่า

อันหญิงย่อมไม่อยาก                               จะกระทำประดุจขาย
ความรักให้แก่ชาย                                   เพราะว่ะเกรงจะดูแคลน
อันชื่อของหม่อมฉัน                                 ฤก็สุดจะหวงแหน
เกลียดหญิงที่แปร๋แปร๋น                            กละชวนบุรุษชม

บทนิพนธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามัทนาเป็นผู้ที่รักศักดิ์ศรีของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงที่ดีนั้นไม่ควรที่จะแสดงความในใจของตนต่อผู้ชายก่อนเพราะจะทำให้คนอื่นดูถูกดูแคลนได้ และเมื่อนางได้เป็นมเหสีของท้าวชัยเสนแล้วนางก็ไม่คิดที่จะมีใครอื่นอีก นางมีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงต่อความรัก มีความซื่อสัตย์ต่อสามี 
นอกจากนี้แล้วมัทนายังเป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่งอีกด้วย ซึ่งในเรื่องมัทนาในชาติที่แล้วได้ยอมตกลงแต่งงานกับชายที่ตนไม่รักเพื่อช่วยให้บิดาของตนลอดพ้นจากความตาย และนางก็ฆ่าตัวตายเพื่อให้ลอดพ้นจากชายที่ตนไม่รัก และในชาตินี้เทพธิดามัทนาที่มาจุติเป็นกุหลาบ เมื่อพระกาละทรรศินมุนี เชิญมาปลูกอยู่ข้างอาศรมให้ความรักความเมตตาดังธิดาของตน ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญ นางมัทนามีโอกาสได้กลายร่างเป็นมนุษย์ก็ให้การดูแลถวายการรับใช้พระฤษีเป็นอย่างดี เพื่อตอบแทนคุณ  ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า บุคลิกภาพภายในคือคุณลักษณะและอุปนิสัยของนางมัทนา  ในทุกชาติภพที่เป็นสตรีนั้นเหมือนเดิมเสมอต้นเสมอปลาย ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวมั่นคง กตัญญูและ  มีคุณธรรม ทำให้นางรอดพ้นจากบุรุษที่ไม่พึงปรารถนาได้ ครั้นนางกลายร่างมาอยู่ในรูปของกุหลาบ กุหลาบก็ยังคงจำลองคุณสมบัติดังกล่าวของนางมาอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะหากใครคิดที่จะเด็ดกุหลาบด้วยมือก็ต้องถูกหนามทิ่มตำ ส่วนในด้านของความรัก กุหลาบมีคุณสมบัติเป็นดอกไม้งามหอมยวนใจบันดาลความสุขและระงับความทุกข์ให้แก่มวลมนุษยชาติ คุณสมบัติดังกล่าวของกุหลาบจึงทำให้ดอกกุหลาบ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง “รักนิรันดร์”

 สติปัญญาความสามารถ

ในด้านของความสามารถของนางมัทนานั้น มัทนามีความฉลาดในการเจรจามากจนสามารถเอาตัวรอดจากชายที่ตนไม่พึงปรารถนาได้ แม้ว่าชายผู้นั้นจะมีอำนาจมากเพียงใดก็ตาม นางก็ยังสามารถใช้วาจาเจรจาพาทีเอาตัวรอดมาได้  จากความสามารถในการเจรจาของนางนั้น ทำให้นางรอดพ้นจากบุคคลที่ตนไม่พึงใจได้ ทั้งๆที่นางไม่มีเวทมนต์อำนาจใดเลย แต่ด้วยความสามารถในการพลิกแพลงภาษาในการเจรจาจึงทำให้นางควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นสตรีผู้มีความฉลาดและมีความสามารถในการเจรจาได้อย่างล้ำเลิศ นอกจากความสามารถในการเจรจาแล้ว นางยังมีสติปัญญาที่เฉียบแหลมมีปฏิภาณไวพริบที่ดี ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อนางจำต้องถูกสุเทษณ์ลงโทษทัณฑ์แล้ว ครั้นให้นางเลือกมาจุติบนโลกมนุษย์นางก็ยังเลือกที่จะมาจุติเป็นดอกกุหลาบซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีคุณสมบัติเหนือดอกไม้อื่นทั้งปวง มีความงดงามนุ่มนวลยวนตาและยังมีหนามแหลมคมคอยคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่ตนเองด้วย
           ในปัจจุบันวัยรุ่นหนุ่มสาวไทยมีค่านิยมในการแสดงความรักด้วยการให้ดอกกุหลาบกัน โดยถือเอาวันวาเลนไทน์เป็นวาระสำคัญในการแสดงความรักด้วยวิธีดังกล่าวอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่ค่านิยมนี้เป็นความคิดและพฤติกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตก จะมี  สักกี่คนที่ระลึกถึงวรรณคดีอมตะซึ่งเป็นสุดยอดแห่งภูมิปัญญาไทยเรื่อง มัทนะพาธา ตำนานแห่งดอกกุหลาบของไทย อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์แห่งความรักมั่นที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระมหาธีรราชเจ้า” ได้ทรงจินตนาการพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อเป็นสมบัติของชาติ

นางโมรา จากวรรณคดีไทย เรื่องจันทโครพ


              นางโมรา ผู้ฆ่าผัว นางชั่วบาป              คงยินทราบ มาแต่ไหน แต่ไรหนา
   นางโมรา จากผอบ  กี่เพลา                           ก็ต้องมา รับกำหนัด  สุริยวงศ์
   นางนั้นเกิด กำเนิดมา หาใช่หญิง                    นางเป็นสิ่ง เสกซ่อน ซ้อนให้หลง
   ด้วยเกิดเพื่อ เหยื่อตัญหา พะว้าพะวง               มิเคยบ่ง บอกบ่ม ศรีนรี
   นางมีร่าง เป็นหญิง แท้จริงไม่                        นางติดใจ แต่อยู่กิน มีถิ่นที่
   ล่อมนุษย์ ผู้ลุ่มหลง ในอิสสตรี                        กลายชะนี ร้องเรียกผัว ทุกตัวไป
กลอนโดย  นิดนรี

หลายคนคงรู้จักชื่อของนางในวรรณคดีนางหนึ่งที่ชื่อว่า  "โมรา"  เพราะชื่อนี้ นอกจากจะเป็นชื่อของนางในวรรณคดีเรื่อง "จันทโครพ" แล้ว ยังใช้เป็นคำเรียกผู้หญิงหลายใจ ที่นอกใจสามีตัวเองอีกด้วย เนื่องจาก เจ้าชายจันทโครพได้ไปศึกษาเล่าเรียน อยู่กับพระฤษีตนหนึ่งจนสำเร็จวิชา อาจารย์เลยให้ผอบทอง ซึ่งมีสาวสวยอยู่ข้างในนั้นคือ นางโมรา โดยพระฤษีกำชับนักหนาว่า อย่าเพิ่งเปิดผอบระหว่างทาง      แต่ความที่อยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น ทำให้จันทโครพตัดสินใจเปิดออกดู เมื่อเห็นนางโมราก็หลงรักทันที และได้นางเป็นชายาที่กลางป่านั่นเอง แต่ขณะที่ทั้งคู่เดินทางกลับเมือง ก็ไปเจอโจรป่าเข้าเลยถูกปล้น โดยโจรหวังจะชิงนางโมราไปด้วย จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ท้ายที่สุด พระขรรค์หลุดออกไป จันทโครพตะโกนให้นางส่งพระขรรค์ให้ แต่นางกลับส่งให้โจรเอามาฆ่าจันทโครพตาย       ส่วนโจรได้นางโมราไปแล้วก็เกิดไม่แน่ใจ กลัวถูกทรยศเหมือนจันทโครพ เลยแอบหนีนางไป ทำให้โมราต้องระหกระเหินหิวโหยอยู่ในป่า พระอินทร์จึงแปลงร่างเป็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อมาลองใจ โดยตกลงว่าเมื่อให้ชิ้นเนื้อแล้ว นางต้องมาเป็นภรรยา นางโมราก็มิได้ขัดขืนแต่อย่างใด พระอินทร์เห็นเช่นนั้นก็โกรธว่า เป็นหญิงมักมากในกามคุณ โดยไม่เลือกว่าโจรหรือสัตว์ จึงสาปนางให้กลายเป็นชะนี ส่งเสียงร้องโหยหวนเรียกหาสามีของตน

บทบาทในการดำเนินชีวิต

ในการดำเนินชีวิตของนางโมรานับว่าไม่สุขสบาย และแตกต่างไปจากนางในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ โดยจันทะโครพเปิดผอบออกมาที่กลางป่า จึงไม่ได้รับความสุขสบาย ถึงแม้ว่านางโมราจะเป็นตัวละครหลักของวรรณคดีเรื่องจันทโครพ แต่ช่วงเวลาในการใช้ชีวิตนอกผอบของนางโมราก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่ได้รับความสุขสบายแต่อย่างใด มีเพียงการดูแลปรนนิบัติ จากจันทโครพผู้เป็นสามีคนแรกเท่านั้น

ชะตาชีวิต

ชะตาชีวิตของนางโมรานับได้ว่าน่าสงสาร เนื่องจากนางถือกำเนิดมาจากขนนกยูง ที่พระฤๅษีอัศโมพระโคดมปลุกเสกขึ้นมาโดยให้นางอาศัยอยู่ในผอบตั้งแต่แรก ต้องออกจากผอบก่อนเวลาอันควร       โดยจันทโครพเปิดผอบออกมาที่กลางป่า สิ่งมีชีวิตแรกที่นางได้พบเห็นก็คือผู้ชาย และประสบการณ์แรกที่ได้รับก็คือประสบการณ์ทางเพศ นางจึงคิดว่าสิ่งสำคัญในตัวนางก็คือเรือนร่าง และความเป็นหญิง  ชีวิตของนางต้องระหกระเหิน เนื่องจากถูกโจรป่าทอดทิ้ง และยังถูกสาปให้กลายเป็นชะนีร้องโหยหาสามีอยู่ตลอดเวลา

รูปโฉม

เนื่องจากนางโมราเป็นหญิงที่เกิดจากการปลุกเสกจากขนนกยูงโดยพระฤๅษีอัศโมพระโคดมจึงไ ด้มีรูปร่าง หน้าตาที่สวยงาม ไม่แพ้หญิงใด โดยสังเกตได้จากการที่พระจันทะโครพเกิดตกหลุมรักนางโมราทันทีที่ได้พบนาง แสดงให้เห็นถึงความงามที่จับตา ต้องใจ จนทำให้ผู้ที่ได้พบนางเพียงครั้งแรกได้เกิดอาการหลงรักได้  อีกทั้งเมื่อโจรป่ามาพบนางเข้าก็เกิดอาการหลงรักนางเช่นเดียวกับพระจันทะโครพ  จึงอาจกล่าวได้ว่า นางโมรา เป็นนางในวรรณคดี ที่มีรูปโฉมงดงามนางหนึ่งเช่นกัน

ลักษณะนิสัย

จากการที่หลายคนเคยได้ยินเรื่องราวของนางโมรามาก่อน ว่าเป็นหญิงที่ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้เป็นสามี และเป็นหญิงที่ฆ่าสามีของตนได้นั้น หากมองลึกเข้าไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้นางได้กลายเป็นเช่นนั้นแล้ว อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด  จากเกลียดนางโมรา กลายเป็นเกิดความสงสารนางโมราได้ เช่นในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูพบว่า "ผอบ" เป็นสัญลักษณ์แทนการจำกัดขอบเขตสภาพแวดล้อมในการ อบรมเลี้ยงดู มีอิทธิพลทำให้นางโมราไม่มีโอกาสเรียนรู้การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามศีลธรรมอันดีงาม เป็นสาเหตุให้นางพึงพอใจในตัวของนายโจรเช่นเดียวกัน  อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับนางพบว่า "ป่า" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพสังคม ที่มีความด้อยทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับสภาพสังคมที่นางเคยดำรงชีวิตมาก่อน มีอิทธิพลในการกระตุ้น พฤติกรรมที่แสดงถึงความด้อยทางวัฒนธรรมของนาง ซึ่งแอบแฝงอยู่ในประสบการณ์ ไร้สำนึก ให้ปรากฏขึ้น
อิทธิพลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนาง ซึ่งได้แก่พระจันทะโครพ และนายโจรมีส่วนต่อการเกิดพฤติกรรมของนาง กล่าวคือ การที่พระจันทะโครพไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระฤๅษี เป็นเหตุให้นาง ไม่ได้รับการอบรมในสังคมที่มีความเจริญทางวัฒนธรรม และผลักดันให้นางมีส่วนร่วมในการฆ่าสามี ในกรณีที่ต้องเป็นผู้ตัดสินใจยื่นพระขรรค์ให้ระว่างนายโจรกับพระจันทะโครพ สำหรับนายโจร นั้นเนื่องจากมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับพฤติกรรมของนางในส่วนของเชื่อชาติเผ่าพันธุ์ ทำให้นางเกิด ความพึงพอใจในตัวนายโจรจึงอาจกล่าวได้ว่านางโมราเป็นหญิงที่ใจง่าย และยอมแลกเรือนร่างของตนเองได้กับทุกอย่างที่ต้องการ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นสัญชาติญาณของสัตว์ป่า ดังเช่นชาติกำเนิดของนางนั่นเอง

สติปัญญาและความสามารถ

สำหรับสติปัญญาแลความสามารถของนางโมรานั้นไม่โดดเด่นเท่าไรนัก เนื่องจากนางไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดู ไม่มีการคิดและการตัดสินใจที่ดีนางจึงนับว่าเป็นนางในวรรณคดีที่ไม่มีความรู้ความสามารถใดๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
จันทโครพเป็นวรรณคดีที่แสดงน้ำเสียงของผู้แต่งชัดเจนว่ามีทัศนะด้านลบต่อนางโมรา ตัวละครหญิงของเรื่อง ผู้แต่เรื่องนี้เป็นชาย จึงแสดงจุดประสงค์ชัดเจนว่าแต่งเรื่องนี้เพื่อสอนผู้ชายด้วยกันให้รู้พิษสงความชั่วร้ายของเพศหญิง ผู้แต่งใช้คำแรงๆ เมื่อพูดถึงนางโมรา เช่น ขึ้นต้นเรื่องว่า  “จะกล่าวกาลกิณีนารีร้าย” พระอินทร์สาปนางเป็นชะนีก็เพื่อ “จะประจานไว้ให้ทั่วทั้งโลกา   ว่าหญิงกาลกิณีนารีทวีป”
การที่พระอินทร์แปลงกายเป็นเหยี่ยวขอร่วมประเวณีกับนางโมราก็น่าจะเป็นการแต่งเติมเพื่อตอกย้ำราคะจริตของนางโมราให้มากขึ้นมากกว่า และน่าคิดว่าออกจะเป็นการจงใจ และไม่ยุติธรรมต่อตัวละครหญิงผู้นี้  ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า โมรา เป็นตัวละครหญิงที่ถูกสร้างให้มีลักษณะนิสัยด้านลบอย่างเด่นชัด เพื่อให้สอดคล้องกับโครงเรื่อง และนำเสนอแก่นเรื่องตรงเป้าหมายชัดเจน โมราทำเรื่องให้จันทะโครพมีพลังเข้มข้นในการแสดงทัศนคติของชายที่มีต่อหญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี เรื่องราวของนางโมราจึงเป็นตำนานที่อ้างอิงกันต่อมาเพื่อประณามความชั่วของเพศหญิง และแนวคิดนี้คงสืบทอดต่อไปอีกยาวนาน.



ประเภทสวยเสน่หา คือ จากสวยต้องคงด้วยเสน่หา ถึงมีชายเข้าหาอยู่เสมอ
                   
                                 นางกากี   จากวรรณคดีไทย เรื่องกากี



กากีเป็นตัวละครหญิงที่รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับความนิยมสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏในบทเห่เรื่องกากี พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ  และเรื่องกากีคำกลอน เป็นผลงานการประพันธ์ของ    เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
กากีนับเป็นนางเอกที่อื้อฉาวที่สุดเลยก็ว่าได้ นางกากีนอกจากจะมีรูปกายงดงามราวกับเทพธิดาแล้ว ยังมีกลิ่นกายหอมเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ชายใดที่แตะต้องสัมผัสนางก็จะหอมติดชายคนนั้นไปเจ็ดวันเลยทีเดียว นางกากีเป็นมเหสีของท้าวบรมพรหมทัต โปรดการเล่นสกามาก และมีพระยาครุฑเวนไตยซึ่งแปลงร่างเป็นมานพรูปงามมาเล่นสกา จนวันหนึ่งเล่นเพลินมิได้ไปหานางกากี นางจึงมาแอบดูและสบตาเข้ากับพระยาครุฑ ต่างก็เกิดอาการหวั่นไหว

 บทบาทในการดำเนินเรื่อง

นางกากีมีบทบาทเป็นภรรยาของชายถึง ๓ คน คือ พระเจ้าพรหมทัตซึ่งเป็นมนุษย์  พญาครุฑซึ่งเป็นสัตว์  และนาฎกุเวรซึ่งเป็นยักษ์  นางยินดีและเต็มใจเป็นภรรยาของชายทั้ง ๓ โดยไม่ได้ถูกบังคับไม่ว่าทั้งทางกายหรือทางใจ  การกระทำของนางจึงเป็นการสนองความปรารถนาในเพศรสอันเป็นลักษณะนิสัยของนาง  ทั้งๆ ที่นางเองตระหนักการคบชู้เป็นการผิดศิลธรรมและจารีต  และหากมีประเวณีกับชายมากกว่าสองคนยิ่งบาปหนักขึ้น ดังที่นางกว่ากับพญาครุฑว่าแต่เสียหนึ่งได้สองก็ต้องห้าม  ถ้าทั้งสามปฎิพัทธ์โอ้บัดสี แต่พฤติกรรมของนางกากีกลับขัดแย้งกับคำพูดของนางข้างต้น  ความหลงใหลในรูปโฉม  ทำให้นางทิ้งเจ้าพรหมทัตไปอยู่กับพญาครุฑ  และความลุ่มหลงในเพศรสทำให้นางกากีไปเป็นชู้กับนาฎกุเวรอีกคน  จะเห็นได้ว่านางกากีมีชู้ตลอดเวลาที่อยู่กับผู้ชายคนใดคนหนึ่ง

ชะตากรรม

นางกากีถูกประณามว่าเป็นหญิงชั่วในแง่ที่ว่าชั่งเป็นหญิงใจง่ายมากชู้หลายผัว  ทั้ง พระเจ้าพรหม  พญาครุฑ  และคนธรรพ์  พฤติกรรมข้างต้นที่สังคมประณามว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายเพราะผู้กระทำความผิดเป็นผู้หญิง ซึ่งมันไม่ค่อยยุติธรรมสำหรับฝ่ายหญิงเท่าไหร่นัก เพราะถ้าผู้กระทำความผิดเป็นฝ่ายชาย แทนที่จะได้รับคำประณาม กลับได้รับรับคำยกย่องว่ามีเสน่ห์ดีมีความสามารถ หรือตำหนิแค่เบา ๆ ว่า “เจ้าชู้” เท่านั้น

ชมโฉม

นางกากีมีบุคลิกลักษณะเหมือนตัวละครเอกฝ่ายหญิงในวรรณคดีไทยทั่วไป  กล่าวคือ  มีรูปรสสมบัติเป็นเลิศ  แม้กวีจะไม่ได้พรรณนาชมโฉมโดยละเอียดแต่ก็กล่าวถึงนางอย่างชื่นชมว่า “งามเพี้ยงอัปสรสวรรค์” และ “วิลาสดั่งดวงจันทร์” นอกจากนี้นางยังมีคุณสมบัติพิเศษคือ กลิ่นกายหอม ใครได้สัมผัสกายนางจะมีกลิ่นหอมติดตัวไปถึง ๗ วัน ดังคำกล่าวที่ว่า
ชื่อกากีศรีวิลาสดั่งดวงจันทร์                       เนื้อนั้นหอมฟุ้งจรุงใจ
เสมอเหมือนกลิ่นทิพมณฑาทอง                 ผู้ไดต้องสัมผัสพิสมัย
กลิ่นกายติดตัวผู้นั้นไป                               ก็นับได้ถึงเจ็ดวันทิวาวาร

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่านางในวรรณคดีส่วนมากไม่มีนางไหนที่จะขี้เหร่ ไม่สวยงดงามเหมือนเทพธิดา แต่สำหรับนางกากีนอกจากจะมีรูปโฉมที่สวยงดงามแล้ว นางยังมีกลิ่นกายที่หอม ซึ่งสิ่งนั้นดิฉันก็คิดว่า น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายหลงใหล ซึ่งก็อาจไม่แตกต่างจากผู้หญิงในปัจจุบันที่มีรูปร่างหน้าตาสวยซึ่งก็นิยมที่จะมีคู่หลายคน

ลักษณะนิสัย

นางกากีมีลักษณะนิสัยที่ต่างจากบุคลิกภาพนอก  นั้นคือ นางเป็นผู้มีจิตฝักใฝ่ในกามารมณ์อย่างยิ่ง  และยังมีนิลัยเป็นคนพูดปดเพื่อเอาตัวรอด  ลักษณะนิสัยทั้งสองประการนี้ล้วนทำให้พฤติกรรมของนางขัดแย้งกับอุดมคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง  ซึ่งเน้นว่าผู้หญิงต้องรัก  ซื่อสัตว์ต่อสามีเพียงคนเดียว  ดังคำกล่าวที่ว่า

ชายนั้นโฉมวิไลพักตร์                               แหลมหลักเชิงเช่นก็เจนจบ
ทั้งกิริยาคมสันครันครบ                            อันชายในพิภพนี้ไม่มีปาน

จากข้างต้นนางกากีมีลักษณะนิสัยต่างจาก อุดมคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งเน้นว่าผู้หญิงต้องรัก ซื่อสัตว์ต่อสามีเพียงคนเดียว ก็จริงอยู่ แต่ในความเป็นจริงสมัยนี้ผู้หญิงในอุดมคติของสังคมก็เริ่มลดน้อยลงทุกที ผู้หญิงในยุคปัจจุบันไม่ค่อยแคร์เรื่องในการคบผู้ชายเหมือนในสมัยก่อน และปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงต้องพูดโกหก เหตุผลก็คงไม่ต่างอะไรกับนางกากีเท่าไหร่นัก

สติปัญญา  ความสามารถ

นางกากีเป็นผู้ที่มีไหวพริบดี  รู้จักการเอาตัวรอด เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความผิดในฐานที่มีชู้ถึงสองชายนี้  นางกากีโทษว่าเป็นเพราะ “กรรม” ทั้งสิ้นเป็นการอ้างถึง “กรรม” ตามที่พบในวรรณคดีไทยทั่วไป สำหรับพญาครุฑนางบอกว่า “เขาเรืองฤทธิ์จนจิตเป็นสัตรี ก็สุดที่แท้ว่ากรรมจึงจำเป็น” สำหรับคนธรรพ์ นางบอกว่า “เพราะกรรมนำเหตุให้หฤโหดประณามโทษว่าผิดอยู่แหล่หลาย”  อย่างไรก็ตามนางก็ยังยืนยังว่านางไม่ผิด ด้วยวิธีที่นางขอยอมตายเพื่อแสดงความซื่อสัตย์ ดังคำกล่าวที่ว่า           

ถึงกระนั้นจริงใจไม่ปฏิพัทธ์                         เป็นความสัตย์ว่าไปใครจะเห็น
พร่ำบวงบนเทพเจ้าทุกเช้าเย็น                     ขอให้ครุฑเคลิ้มเคล้นมาส่งคืน

และยังกราบทูลอีกว่า  เมื่อนาฏกุเวรไปส่งข่าวว่าพระเจ้าพรหมทัตเสียพระทัยที่นางจากมา  นางรู้สึกเศร้าโศกมากจนกระทั่ง

ให้อัดอั้นตันจิตดังพิษปืน                                  สลบลงกับพื้นพิมานบน

ส่วนการที่นางเป็นเมียนาฎกุเวรนั้น  นางแก้ตัวว่า 

ดั่งร่างผีมิได้รู้สึกสกนธ์                          เท็จจริงก็เหมือนจนประจานกาย

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่านางกากีมีนิสัยชอบพูดปด มีสาติปัญญาในการคิด และมีไหวพริบในการเอาตัวรอด เพื่อหลุดพ้นความผิด แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของนางกากี ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ทุกคนก็ยังคงมองว่านางผิด
นางกากี ในเรื่อง กากี นับเป็นนางเอกที่อื้อฉาวที่สุดก็ว่าได้   พฤติกรรมการมีสามีหลายคนของนางกากี ทำให้นางถูกสังคมประณามเธอว่าเป็นหญิงชั่ว มีจิตใจฝักใฝ่ในกาม พฤติกรรมทำนองนี้เป็นถือว่าเป็นสิ่งที่ชั่วเลวทราม  ไม่สมควรที่จะได้รับการอภัยไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง  ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยให้มาตรฐานจริยธรรมของ ชาย – หญิง ในสังคมไทย อยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ผู้คนที่เกิดมาในสังคม ต่อมาพระยาครุฑได้บินมาลักพานางไปยังวิมานฉิมพลี ทำให้ท้าวพรหมทัตกลัดกลุ้มพระทัย คนธรรพ์นาฏกุเวรซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของท่านท้าวก็อาสาจะลักพานางกลับมา แต่แทนที่จะพานางกลับเมืองกลับเกี๊ยวพาและเล้าล้อมนางจนได้เสียกัน ท่านท้าวจึงนำนางไปปล่อยแพกลางทะเล ต่อมานางได้รับความช่วยเหลือจากนายสำเภา ซึ่งได้รับนางเป็นภรรยา แต่เคราะห์กรรมนางยังไม่หมด ต่อมาถูกนายโจรมาลักพาตัวไปเพราะหลงไหลในความงาม ปรากฎว่าหมู่โจรเกิดการแย่งชิงนาง นางหนีไปได้และได้เป็นมเหสีของท้าวทศวงศ์ นับดูแล้วนางกากีมีสามีถึง 5 คน แสดงว่าต้องเป็นคนที่เซ็กซี่มีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้ามอย่างมาก